วันสุขบัญญัติแห่งชาติ (28 พฤษภาคม) *ดาวน์โหลดสื่อสุขบัญญัติ คลิก*
ปฏิบัติสุขบัญญัติให้เป็นนิสัย สุขภาพกาย ใจ แข็งแรง
สุขบัญญัติ หมายถึง ข้อกำหนดที่เด็กและเยาวชนตลอดจนประชาชนทั่วไป พึงปฏิบัติ อย่างสม่ำเสมอ จนเป็นสุขนิสัย เพื่อให้มีสุขภาพดี ทั้งร่างกาย และจิตใจ
สุขบัญญัติแห่งชาติ เป็นนโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชาชน เน้นการปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพขั้นพื้นฐานให้เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชน โดยนำแนวทางของสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ มาประยุกต์ใช้
วันสุขบัญญัติแห่งชาติ เป็นวันที่มีความสำคัญในการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนได้ตระหนักในการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ตามแนวทางของสุขบัญญัติแห่งชาติ โดยเป็นวันที่คณะกรรมการสุขศึกษาแห่งชาติ ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติและประกาศใช้เป็น "สุขบัญญัติแห่งชาติ" เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2539
ความเป็นมาของ “สุขบัญญัติแห่งชาติ”
ในปี พ.ศ. 2476 กองอนุสภากาชาดสยาม ได้บัญญัติคำว่า "กติกาอนามัย" ขึ้น จำนวน 12 ข้อ เพื่อเป็นกติกาสำหรับสมาชิกอนุสภากาชาดใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้มีสุขภาพที่ดี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนด "สุขบัญญัติ 10 ประการ" ขึ้นมาใช้แทน "กติกาอนามัย" ซึ่งถือเป็นเนื้อหาสำคัญในการเรียนการสอนวิชาสุขศึกษาระดับประถมศึกษา และได้มีการปรับปรุงหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 โดยบูรณาการวิชาสุขศึกษา สังคมศึกษาและวิทยาศาสตร์ เข้าด้วยกันเป็น "กลุ่มวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต" แล้วจัดเนื้อหาออกเป็นแต่ละหน่วย เริ่มจากหน่วยที่ใกล้ตัวที่สุดแล้วขยายออกไปยังครอบครัว ชุมชน สังคมต่อไป ด้วยหลักบูรณาการ (Integration) ดังกล่าว เนื้อหาสุขบัญญัติ 10 ประการ จึงถูกนำไปประสานกับเนื้อหาของวิชาสังคมศึกษาและวิชาวิทยาศาสตร์ เกิดเป็นคำใหม่ขึ้นคือ "สุขนิสัย"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดประชุมทบทวนเรื่อง สุขบัญญัติแห่งชาติขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัญหาสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงได้มีการปฏิรูปสุขบัญญัติแห่งชาติให้ทันสมัยขึ้น และได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ประชุมสัมมนา รวมทั้งสิ้น 10 ครั้ง โดยการกำหนดกลวิธีทางสุขศึกษาเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมสุขภาพเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะต้องได้รับการปลูกฝังและส่งเสริมให้มี สุขภาพดี โดยให้สถาบันต่างๆ ในสังคม อาทิ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันสาธารณสุข สถาบันการเมือง และสถาบันสื่อมวลชน ฯลฯ มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ “สุขบัญญัติแห่งชาติ” โดยให้มีเนื้อหาสุขบัญญัติครอบคลุม 6 กลุ่มพฤติกรรม ได้แก่ อนามัยส่วนบุคคล อาหารและโภชนาการ การออกกำลังกาย สุขภาพจิต อุบัติภัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม
คณะกรรมการสุขศึกษาแห่งชาติ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจึงได้ร่วมกันพิจารณา
สุขบัญญัติแห่งชาติ และเห็นสมควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติและประกาศใช้เป็น "สุขบัญญัติแห่งชาติ"
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปเผยแพร่แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนนำไปปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างและปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องอันจะเป็นการนำไปสู่การมีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมต่อไป
สุขบัญญัติแห่งชาติ มีข้อปฏิบัติ 10 ประการ ได้แก่
1) ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
2) รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง
3) ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย
4) กินอาหารสุกสะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด
5) งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ
6) สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
7) ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท
8) ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี
9) ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
10) มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม
โดยปีนี้ได้เน้น สุขบัญญัติข้อที่ 10 "มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม" : การจัดการขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กองสุขศึกษา ขอถือโอกาสเนื่องในวาระวันสุขบัญญัติแห่งชาติ ประจำปี 2563 เชิญชวนทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกสังคมครอบครัว และทุกท่านที่ทำหน้าที่ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ร่วมกันขับเคลื่อน ผลักดัน และสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพและมีพฤติกรรมสุขภาพตามสุขบัญญัติแห่งชาติ เพื่อลดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้ และเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของชาติ ที่มีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เพื่อเป็นอนาคตที่ดีของชาติสืบไป